เปิดงาน EECi แฟร์ สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่
กท.วิทย์ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เปิดงาน” EECi แฟร์”หวังใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมและคน สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษตะวันออกอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 ที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี/ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาคเอกชนในพื้นที่จัดงาน “มหกรรมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” หรือ “EECi แฟร์” ชึ้น โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานเปิดงาน
ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เล็งเห็นว่าการส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก จะเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และกำลังคนของประเทศและภูมิภาค ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการในการพัฒนาทุกมิติของประเทศได้อย่างแท้จริง ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในส่วนของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน เพื่อส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต โดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการนำพาประเทศก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0
ทั้งนี้ ในการพัฒนาพื้นที่ EEC ไม่ได้จำกัดเป้าหมายแค่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ด้านกฎหมายกฎระเบียบ และสิทธิประโยชน์ให้แก่ภาคเอกชนเพื่อให้เกิดการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเท่านั้น หากแต่มีเป้าหมายที่สำคัญ คือ ประชาชนในพื้นที่จะต้องมีวิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการยกระดับรายได้และมีความเป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัย ซึ่งประเด็นสำคัญที่ท้าทายในการพัฒนาพื้นที่ EEC คือการพัฒนาภาคการเกษตรและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะได้รับผลกระทบจากการพัฒนา EEC มากที่สุดทั้งในส่วนของการใช้ทรัพยากรน้ำ ดิน และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป อันจะส่งผลให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมจากการพัฒนา ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการพัฒนาพื้นที่ EEC ให้มากที่สุดตั้งแต่เริ่มต้นการดำเนินงาน เพื่อหาจุดร่วมที่สมดุลย์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
ด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า การที่ EEC เป็นโครงการขนาดใหญ่ทำให้ภาคประชาชน ภาคอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเกิดความวิตกกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อสังคมในเชิงเศรษฐกิจฐานรากหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องทรัพยากรป่าไม้ ทะเล ชายฝั่ง ทรัพยากรน้ำ และอื่นๆ ดังนั้น การที่เราจะวิเคราะห์เรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้ เราจะไม่ใช้กลไกเดิมๆ ได้อีกต่อไป เนื่องจากกลไกในรูปแบบเดิมนั้นจะเน้นที่การเชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมเป็นหลัก แต่โครงการนี้จะมีผู้เกี่ยวข้องมากมาย และอาจจะมีเป็นหมื่นโครงการ ดั้งนั้น เราจึงต้องมีระบบที่เป็นกลไกในการมาสังเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์และหาผลกระทบในด้านต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ระบบที่ว่านี้ต้องมี intelligenc
“เพราะฉะนั้นสิ่งที่จิสด้าจะทำในวันนี้ คือเราจะพัฒนาระบบที่มี intelligence policy platform คือ เป็นระบบที่ใช้ปัญญาของมนุษย์ หรือ ปัญญาประดิษฐ์ มาผสมผสานกัน เพื่อเสริมหรือทดแทนกลไกเดิมๆ ที่เราเคยใช้กัน เช่น การจัดประชุม เป็นต้น ระบบนี้นอกจากจะช่วยย่อยและสังเคราะห์ข้อมูลแล้ว ยังทำให้มนุษย์สามารถมองได้รอบด้านอย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการวางแผน และการตัดสินใจ เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงที่เราเรียกว่า actionable ดังนั้น สิ่งที่จิสด้าพยายามผลักดันร่วมกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(สกรส.) คือการทำให้พื้นที่ EEC มี actionable intelligence policy platform หรือ AIP platform นั่นเอง สิ่งที่เรากำลังทำเป็นสิ่งค่อนข้างใหม่ นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมเราต้องมี Thailand 4.0 “
ดร.อานนท์ กล่าวอีกว่า Thailand 4.0 เราต้องเดินหน้าโดยใช้นวัตกรรมของเราเอง เพราะฉะนั้น AIP platform จึงเป็นนวัตกรรมเชิงพื้นที่ ในระยะแรกๆ อาจจะมีการพึ่งพาเทคโนโลยีของต่างประเทศด้วยแต่จะเป็นการเชื่อมโยงกันและกัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีในเรื่อง intelligence ซึ่งมีการใช้กันมากในเทคโนโลยีทางการทหาร แต่เราไม่สามารถนำมาใช้ได้โดยตรง เราจึงเอา intelligence นี้ มาใช้ในการสังเคราะห์และวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ซึ่งภายใน 6 เดือนนี้ จะสามารถใช้ได้ในระดับหนึ่ง เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเชื่อมั่นว่านวัตกรรมของเราสามารถทำได้จริง และประมาณ 2 ปีนับจากนี้ จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเกิดความเข้าใจและยอมรับ โดยเราไม่ต้องไปใช้ทางกายภาพแบบเดิมๆ
สำหรับงาน EECI แฟร์ที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ SKP ในครั้งนี้ จิสด้ามีเป้าหมายในการร่วมพัฒนาพื้นที่ EEC อย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงาน ภายในงานมหกรรม EECi แฟร์ได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ นิทรรศการอนาคต EEC ในอีก 20 ปีข้างหน้า การแสดงสินค้านวัตกรรมโอทอปในพื้นที่ EEC การสัมมนาผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน (บ.ว.ร. 4.0) ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน และการเสวนาเทคโนโลยีระบุตำแหน่งด้วยความแม่นยำสูงนิยามใหม่เพื่อสังคมแห่งอนาคต รวมถึงกิจกรรมแข่งขันนักวางแผนและพัฒนา EEC และจังหวัดภาคตะวันออก ระดับ เยาวชนครั้งที่ 2 ชิงโล่เกียรติยศนายกรัฐมนตรี และ การแข่งขันโครงการอาชีวะสร้างชาติเกษตรอัฉริยะ
ทั้งนี้ตั้งเป้า ตลอดการจัดงาน 5 วันจะมีผู้เกี่ยวข้องมาร่วมไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ที่จะเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ รวมทั้งแสดงความคิดเห็น โดยงาน EECi แฟร์ ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 14 มกราคม 2561 ที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
Cr.Dailynews พฤหัสบดีที่ 11 มกราคม 2561